วันพฤหัสบดีที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เกาต์


·  โรคและอาการ
        ตามปกติตับจะผลิตกรดยูริกออกมาแล้วจะกำจัดออกทางปัสสาวะ แต่ถ้าร่างกายมีกรดยูริกสะสมอยู่มากเกินไป จะเกิดก้อนผลึกคมๆ ในไขข้อ (ของเหลวกันกระแทกตามข้อต่างๆ ในร่างกาย) คุณจะรู้สึกเหมือนมีเศษแก้วแตกบดเบียดอยู่ในข้อ เรียกอาการข้ออักเสบนี้ว่า “เกาต์” เกาต์มักเกิดกับชายอายุเกิน 40 ปี (ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าที่ผลึกกรดยูริกจะเกิดการสะสม) ส่วนใหญ่แล้วเกาต์จะเกิดกับข้อหัวแม่เท้า แต่ก็เกิดได้กับข้อมือ หัวเข่า ข้อศอก และข้อบริเวณอื่นได้ นอกจากจะเจ็บปวดแล้วเกาต์ยังทำให้ข้อบวมด้วย

เอนหลังและประคบน้ำแข็ง
o   เมื่อโรคเกาต์กำเริบควรพยายามนอนลง และยกข้อที่ปวดให้สูงขึ้น เรื่องนี้อาจไม่เป็นปัญหา เพราะเมื่ออาการเกาต์กำเริบคุณอาจยกผ้าสักผืนไม่ขึ้นเลยด้วยซ้ำ
o   ถ้าพอทนได้ ให้ประคบน้ำแข็งสัก 20 นาที ความเย็นจะทำให้ชาบริเวณที่ปวด และลดบวมด้วย ใช้ผ้าห่อน้ำแข็งไว้เพื่อปกป้องผิวหนัง ประคบเย็น วันละ 3 ครั้ง ทำติดต่อกัน 2-3 วัน

กินเชอร์รี่
o   เชื่อกันว่าผลเชอร์รี่มีสรรพคุณรักษาเกาต์ได้ เชอร์รี่มีสารที่ช่วยทำให้กรดยูริกในเลือดมีสภาพเป็นกลาง และยังมีสารต้านอักเสบ ทั้งเชอร์รี่สดและแห้งให้ผลเท่าๆ กัน เมื่อรู้สึกว่าอาการกำลังจะกำเริบ ให้กินเชอร์รี่สัก 1-2 กำมือ ถ้าไม่มีผลสด ก็กินเชอร์รี่กระป๋องแทน มีการศึกษาบ่งชี้ว่า การกินเชอร์รี่ 20 ลูก จะลดปวดได้เท่ากับยาแอสไพริน 1 เม็ด
o   ถ้าไม่ชอบเชอร์รี่ ผลไม้ในตระกูลเดียวกันอย่างสตรอว์เบอร์รี่และราสป์เบอร์รี่ก็ให้ผลคล้ายกัน แต่ต้องกินปริมาณมากกว่าเชอร์รี่

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารรักษาเกาต์
o   กินน้ำมันปลาหรือน้ำมันปอ (flaxseed oil) เป็นประจำทุกวันจะช่วยลดอาการข้ออักเสบ น้ำมันทั้งสองชนิดนี้อุดมด้วยกรดไอโคซาเพนทาอีโนอิกหรืออีพีเอ (icosapentaenoic : EPA) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอักเสบ กินน้ำมันปอวันละ 1-3 กรัม (น้ำมันปอ 1 กรัมประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ) ควรใช้ในรูปน้ำมันแทนที่จะกินแบบแคปซูล เพราะคุณต้องใช้มากกว่า 12 แคปซูลจึงจะได้น้ำมันปอ 1 ช้อนโต๊ะ ส่วนน้ำมันปลานั้นควรกินให้ได้ 6,000 มก. ต่อวัน โดยจะใช้แบบแคปซูลหรือน้ำมันก็ได้ (ระวัง ถ้ากินในปริมาณมาก ควรเลือกน้ำมันปลา ไม่ใช่น้ำมันตับปลาหรือน้ำมันตับปลาค้อด ซึ่งแม้จะมีสารต้านอักเสบปริมาณที่อดี แต่จะมีวิตามินเอและวิตามินดีมากเกินไป)
o   เซเลอรี่สดหรือสารสกัดเมล็ดเซเลอรีชนิดเม็ด จะช่วยลดกรดยูริกได้ปริมาณที่แนะนำคือวันละ 2-4 เม็ด
o   ใบเนตเทิลเป็นยารักษาข้ออักเสบที่ชาวตะวันตกใช้กันมานาน โดยจะช่วยลดกรดยูริก ปัจจุบันมีการผลิตในรูปสารสกัดโดยทำให้แห้งด้วยความเย็น ขนาดที่ใช้คือ วันละ 300-600 มก. แต่ไม่ควรกินติดต่อกันเกิน 3 เดือนในแต่ละครั้ง (ระวัง อย่าใช้ชนิดทิงเจอร์ เพราะมีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ซึ่งทำให้เกาต์กำเริบ) เนตเทิลสามารถใช้ทาภายนอกได้ด้วย โดยแช่ผ้าสะอาดในน้ำต้มใบเนตเทิลแล้วนำมาปิดทับข้อที่ปวด

ดื่มน้ำและงดดื่มเบียร์
o   ดื่มน้ำมากๆ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว (ขนาด 250 มล.) จะช่วยกำจัดกรดยูริกส่วนเกินออกจากร่างกาย นอกจากนี้น้ำยังลดความเสี่ยงต่อการเกิดนิ่วในไตซึ่งจะยิ่งทำให้อาการเกาต์กำเริบหนักขึ้น
o   ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะดูเหมือนแอลกอฮอล์จะทำให้ร่างกายผลิตกรดยูริกมากขึ้นและขัดขวางการขจัดกรดยูริก โดยเฉพาะเบียร์ซึ่งมีสารพิวรีนมากกว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดอื่น

ตรวจสอบยาที่กิน
o   สำหรับผู้ที่ต้องกินยาขับปัสสาวะเป็นประจำ เช่น ผู้เป็นความดันเลือดสูง ควรปรึกษาแพทย์ดูว่าสามารถใช้ยาอื่นแทนได้หรือไม่ เพราะยาขับปัสสาวะจะขจัดของเหลวส่วนเกินออกจากร่างกาย ทำให้ปริมาณกรดยูริกที่ผ่านเข้าไปในปัสสาวะลดลงด้วย จึงเหลือกรดยูริตกค้างอยู่ในร่างกายมากขึ้น และทำให้คนที่เป็นโรคเกาต์อาการแย่ลง
o   บางครั้งเกาต์ถูกกระตุ้นด้วยกรดไนอะวินหรือกรดนิโคตินิก ซึ่งแพทย์อาจสั่งให้กับผู้ที่คอเลสเตอรอลสูง ถ้าคุณกินยานี้อยู่ ลองปรึกษาแพทย์ว่าใช้ยาอื่นแทนได้หรือไม่

อย่าอดอาหาร
o   การลดน้ำหนึกช่วยป้องกันโรคเกาต์ได้ก็จริง แต่การลดน้ำหนักแบบเร่งด่วน หรือการอดอาหารกลับเป็นผลเสีย เพราะเมื่อคุณอดอาหาร เซลล์ต่างๆ ในร่างกายจะปล่อยกรดยูริกออกมามากขึ้น คนที่น้ำหนักเกินควรลดน้ำหนักแบบค่อยเป็นค่อยไป คือควรลดไม่เกิน 1 กก. ต่อสัปดาห์

เมื่อใดควรพบแพทย์
        ถ้าคุณเริ่มมีอาการบวมและเจ็บตามข้อ ให้รีบพบแพทย์เพราะอาจเป็นเกาต์หรือข้ออักเสบ แพทย์อาจใช้เข็มขนาดเล็กดูดของเหลวจากข้อมาตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ ดูว่ามีผลึกกรดยูริกหรือไม่ แม้จะมียารักษาโรคเกาต์อยู่แต่ก่อนจะกินยา คุณควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหารชนิดใดอยู่บ้าง เพราะยาหรือสารเสริมอาหารบางอย่างอาจยิ่งทำให้อาการกำเริบ

อาหารที่ต้องหลีกห่าง
        อาหารโปรตีนสูงและอาการที่มีสารพิวรีนจะเพิ่มกรดยูริกในร่างกาย ผู้ที่เป็นโรคเกาต์จึงต้องเลี่ยงอาหารเหล่านี้ ซึ่งได้แก่ เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลาบางชนิด เช่น ปลาแอนโชวี ปลาซาร์ดีน และปลาเฮร์ริง รวมทั้งกะปิและน้ำพริกกะปิดด้วย นอกจากนี้ยังควรหลีกเลี่ยงอาหารทอด คาร์โบไฮเดรขัดขาว (เช่น แป้งขัดขาว) ข้าวโอ๊ต อาหารที่มียีสต์เป็นส่วนผสม เช่น เบียร์และเบเกอรรีทั้งหลาย ผักบางชนิด เช่น หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วแระ ผักโขม และดอกกะหล่ำ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น