วันพฤหัสบดีที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข้ออักเสบ

·    โรคและอาการ
        ข้ออักเสบมีมากกว่า 100 ประเภท ที่พบบ่อยที่สุดคือข้อเสื่อม อาการคือข้ออักเสบ ปวด บวม และเคลื่อนไหวลำบาก อาการปวดเกิดจากการบาดเจ็บและเสื่อมสภาพของกระดูกอ่อน ซึ่งเป็นคล้ายวัสดุรองรับแรงกระแทกอยู่ในข้อ เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อมสลายไป ช่องว่างระหว่างข้อแคบลง กระดูกจะเสียดสีและบดทับกันเอง ข้อเสื่อมเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่พบบ่อยเมื่ออายุเกิน 45 ปี มักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย ข้ออักเสบประเภทอื่นๆ ที่พบบ่อยคือ ข้ออักเสบรูมาตอยด์ และข้ออักเสบจากโรคสะเก็ดเงิน

ยาบรรเทาปวด
o   ควรเสริมกลูโคซามีน (glucosamine) และคอนดรอยตินซัลเฟต (chondroitin sulphate) เพื่อบรรเทาอาการปวดข้อและโรคข้อเสื่อม มีข้อมูลยืนยันว่าผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ชนิดนี้ใช้ได้ผลดีกับโรคข้ออักเสบเล็กน้อยถึงปานกลาง คุณควรกินตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัดและอย่าใจร้อน เพราะต้องรออย่างน้อย 1 เดือน จึงเริ่มรู้สึกดีขึ้น และได้ผลบรรเทาอาการหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์นี้ตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
o   กินขิงผงวันละ ½ ช้อนชา หรือขิงสดวันละ 35 กรัม (ราว 6 ช้อนชา) มีงานวิจัยพบว่าเหง้าขิงสามารถบรรเทาอาการอักเสบและปวดข้อ เพราะเพิ่มการไหลเวียนเลือด และยังยับยั้งการสร้างสารเคมีในร่างกายที่ทำให้อักเสบ
o   กิน SAM-e (S-adenosylmethionine) วันละ 400 มก. SAM-e เป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกเซลล์ของร่างกาย ช่วยบรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบด้วยการเพิ่มระดับสารโปรทีโอไกลแคน (proteoglycan) ในเลือด โปรทีโอไกลแคนมีบทบาทสำคัญในการปกป้องกระดูกอ่อน โดยรักษาสภาพกระดูกอ่อนและเพิ่มปริมาณออกซิเจนในข้อ มีงานวิจัยพบว่า SAM-e มีประสิทธิภาพบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบได้เท่ากับยาไอบูโพรเฟน
ถ้าคุณใช้ SAM-e วันละ 800 มก. แล้วอาการดีขึ้น เมื่อใช้ครบ 2 สัปดาห์ ให้ลดปริมาณลงเหลือวันละ 400 มก. SAM-e มีผลข้างเคียงเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร คือ จุกเสียดท้องและคลื่นไส้ แต่สามารถใช้ร่วมกับยาชนิดต่างๆ ได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตามผู้ที่กินยารักษาโรคซึมเศร้าสลับเริงร่าง หรือโรคพาร์คินสัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้

บำบัดด้วยความร้อนและความเย็น
o   ประคบร้อนบริเวณข้อที่ปวดช่วยบรรเทาปวดได้ดี โดยอาจใช้ถุงน้ำร้อน ผ้าชุบน้ำร้อน หรือผ้าห่มไฟฟ้าประคบข้อที่มีอาการปวด 20 นาที การอาบน้ำอุ่นก็ช่วยได้เช่นกัน
o   บำบัดด้วยความเย็น ความเย็นจะช่วยลดอักเสบ ใช้ผ้าขนหนูห่อน้ำแข็งพันไว้รอบข้อที่อักเสบ หรืออาจใช้กระป๋องเครื่องดื่มแช่เย็นแทนก็ได้

สวมถุงมือก่อนนอน
o   ถ้ามีอาการข้อนิ้วมือติดขัดและบวมตอนเช้า ให้สวมถุงมือที่แน่นพอดีก่อนเข้านอน ถุงมือจะช่วยป้องกันอาการบวมได้ดี แต่ถ้าสวมถุงมือเข้านอนแล้วอาการเลวลง ควรหยุดใช้วิธีนี้

หล่อลื่นข้อที่ปวดบวม
o   กินปลาที่มีไขมันมากเพิ่มขึ้น เช่น ปลาแม็กเคอเรล ปลาแซลมอน และปลาซาร์ดีน ในไขมันปลาเหล่านี้มีกรดไขมันโอเมกา-3 ขนาด 2,000 มก. วันละ 3 ครั้งพร้อมอาหาร ผู้ที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือมีคอเลสเตอรอลสูง หรือเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนกินน้ำมันปลา
o   คุณอาจกินน้ำมันปอ (flaxseed oil) หรือน้ำมันเมล็ดลินินแทนน้ำมันปลาเพราะมีโอเมก้า-3 เหมือนกัน โดยกินวันละ 1 ช้อนโต๊ะ อาจกินแต่น้ำมันปออย่างเดียว หรือผสมกับน้ำส้มหรือใช้ทำน้ำสลัดก็ได้
o   ถ้าคุณชอบถั่วเปลือกแข็ง ก็ตามใจตัวเองได้เต็มที่ เพราะในถั่วมีกรดไขมันจำเป็นอยู่เช่นกัน

นวดบรรเทาปวด
o   หยดน้ำมันยูคาลิปตัส 2-3 หยดลงบนผิวแล้วนวด ช่วยบรรเทาปวดได้ดี แต่ไม่ควรนวดน้ำมันแล้วประคบร้อน เพราะอาจะทำให้เกิดอาการแสบร้อนและระคายเคืองผิว
o   แคปเซอิซิน (capsaicin) เป็นสารให้รสเผ็ดร้อนในพริกที่มีการนำมาใช้เป็นสารออกฤทธิ์ในผลิตภัณฑ์รักษาอาการปวดข้อ แคปเซอิซินออกฤทธิ์รบกวนการทำงานของเส้นประสาท ทั้งนี้เพราะสามารถลดปริมาณสารพี (substance P) ซึ่งเป็นสารสื่อประสาท ที่นำความเจ็บปวดจากเส้นประสาทส่วนปลายไปยังสมอง จึงบรรเทาอาการปวดข้อ ปัจจุบันมีครีมหรือขี้ผึ้งหลายชนิดที่ระบุว่ามีส่วนผสมจากพริก คุณสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายยา หรือร้านผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ นอกจากนี้ยังหาซื้อได้ทางอินเตอร์เน็ต

เคลื่อนไหวข้อที่ปวดอยู่เสมอ
o   การออกกำลังเบาๆ เช่น เดิน ว่ายน้ำ ถีบจักรยาน หรือโยคะ ช่วยบรรเทาอาการปวดและข้อติด ถ้ามีอาการอักเสบที่ข้อเท้า หรือสะโพก ควรใช้ไม้เท้าช่วยพยุงเดินหรือใช้ในระยะแรกเพื่อป้องกันข้อบาดเจ็บ หาข้ออักเสบและบวม ควรหยุดออกกำลังกายอย่างน้อย 1 วัน
o   ปรึกษาแพทยืหรือนักกายภาพบำบัดเรื่องการยกน้ำหนักฝึกกล้ามเนื้อความแข็งแรงของกล้ามเนื้อจะช่วยพยุงและรองรับแรงกระแทกบริเวณข้อ

วัดความยาวขา
o   ผู้ที่มีอาการข้อสะโพกหรือข้อเข่าอักเสบควรให้แพทย์วัดความยาวขาทั้งสองข้าง ผู้ป่วยข้ออักเสบกลุ่มนี้ราว 1 ใน 5 มีขาข้างหนึ่งยาวกว่าอีกข้างหนึ่ง ซึ่งอาจต้องขอคำแนะนำจากแพทย์เพื่อหาผู้เชี่ยวชาญมาตัดรองเท้าให้โดยเฉพาะ

ฟังพยากรณ์อากาศ
o   อากาศเปลี่ยนแปลง อาจทำให้ข้ออักเสบอาการกำเริบ เนื่องจากภาวะที่อากาศมีความชื้นเพิ่มขึ้นและความกดอากาศลดลงอย่างรวดเร็วมีผลต่อการไหลเวียนเลือดบริเวณข้อที่อักเสบ หากพยากรณ์อากาศบอกว่าจะมีพายุ ควรเตรียมตัวโดยเปิดเครื่องดูดความชื้นไว้ล่วงหน้า

ป้องกันไว้ก่อนดีกว่า
o   การควบคุมน้ำหนักตัว ให้เหมาะสมช่วยป้องกันข้อเข่าเสื่อมได้ ไม่ว่าน้ำหนักปัจจุบันของคุณจะเป็นเท่าใดก็ตาม การลดน้ำหนักลง 5 กก. และคงไว้อย่างน้อย 10 ปี ช่วยลดโอกาสเป็นโรคข้อเข้าอักเสบได้
o   ผู้ที่ออกกำลังกายด้วยการเดินเป็นประจำ ควรเปลี่ยนเส้นทางเดินทุกวัน การเดินบนพื้นผิวหลายประเภทช่วยป้องกันการบาดเจ็บซ้ำบริเวณข้อเดิม ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้จากการเดินบนเส้นทางเดิม
o   เลือกรองเท้าใส่เดิน ที่ถูกหลักสรีรวิทยา โดยต้องมีพื้นหนานุ่มบริเวณส้นเท้าเพื่อช่วยลดแรงกระแทกบริเวณเท้า ข้อเท้า ขา เข่า และข้อสะโพก พื้นรองเท้าที่แบนราบจะป้องกันข้อเข่าได้ดีที่สุด
o   งานวิจัยล่าสุดพบว่าวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดข้อเสื่อมและชะลออาการของโรคได้ เพราะจะป้องกันกระดูกเสื่อมจากการทำลายของอนุมูลอิสระ ควรกินวิตามินซีวันละ 500 มก.
o   กินแร่ธาตุสังกะสีเป็นสารเสริมอาหาร จากการศึกษาระยะยาวกับผู้หญิงเกือบ 30,000 คนพบว่า สังกะสีช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โดยควรกินพร้อมอาการวันละไม่เกิน 15 มก. เพราะหากกินมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ

ข้ออักเสบรูมาตอยด์
ข้ออักเสบรูมาตอยด์เป็นโรคข้ออักเสบชนิดรุนแรง ที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อตนเอง นอกจากข้ออักเสบ ปวดและบวมแล้ว โรคนี้ยังทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย เลือดไหลเวียนไม่ดีโลหิตจาง และอาการทางตา อย่างไรก็ตาม คุณสามารถดูแลตัวเองได้ดังต่อไปนี้
o   บันทึกรายการอาการทุกชนิดที่กินตลอดวัน จะได้ทราบว่าอาหารชนิดใดทำให้อาการกำเริบ อาหารบางชนิด เช่น ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์นม ผลไม้ตระกูลส้มและมะนาว ไข่ และมะเขือเทศ อาจกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาอักเสบในร่างกายยิ่งขึ้นจนผิดปกติ
o   ลองกินอาหารมังสวิรัติภายใต้การดูแลของแพทย์ จากการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ใช้ระยะเวลา 1 ปี พบว่าเมื่อกินอาหารมังสวิรัติร่วมกับงดอาหารจำพวกไข่กูเตน (โปรตีนชนิดหนึ่งในข้าวสาลี) คาเฟอีน แอลกอฮอล์ เกลือ น้ำตาลฟอกขาว และนม ช่วยลดอาการปวดบวมข้อหลังจากเริ่มกินเพียง 1 เดือน หลังจากนั้น 1-3 เดือน ก็ยังสามารถกินนมได้ โดยไม่มีผลข้างเคียง
o   งานวิจัยพบว่ากรดแกมมาลิโนเลนิกหรือจีแอลเอ (gamma-linolenic : GLA) บรรเทาอาการอักเสบและปวดจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ อาหารที่มีสารนี้คือ น้ำมันบอเรจ (borage seed oil) น้ำมันแบล็กเคอแรนต์ (blackcurrant oil) และน้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส การศึกษาล่าสุดพบว่า เสริมกรดแกมมาลิโนเลนิกอย่างน้อยวันละ 1.4 กรัม จะได้ผลสูงสุด แต่ผลิตภัณฑ์ที่ขายทั่วไปแนะนำให้กินไม่เกินวันละ 0.24 กรัม ดังนั้นหากจะกินวันละ 1.4 กรัม ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อน
o   แพทย์บางคนเชื่อว่าการอดอาหารช่วงสั้นๆ (1-2 วัน) ช่วยบรรเทาอาการปวดจากข้ออักเสบรูมาตอยด์ ทฤษฎีนี้เชื่อว่า การอดอาหารทำให้ระบบภูมิคุ้มกันซึ่งทำงานเกินปกติต้องหยุดพัก อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์ก่อนทดลองใช้วิธีนี้โดยเฉพาะผู้ที่ต้องกินยาเป็นประจำ

เมื่อใดควรพบแพทย์
        หากมีอาการปวด บวม แดง หรือเคลื่อนไหวติดขัดบริเวณข้อใดข้อหนึ่ง หรือไม่ทราบว่าเป็นข้ออักเสบประเภทใด ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรค สำหรับผู้ที่เป็นข้ออักเสบอยู่แล้ว แต่มีอาการผิดปกติอื่นเพิ่มเติมควรพบแพทย์เช่นกัน


        การออกกำลังกายเป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับป้องกันข้อติดขัด ควรฝึกท่าบริหารเบาๆ ต่อไปนี้ท่าละ 3-5 ครั้งเป็นประจำ หากรู้สึกปวดกระทันหันควรหยุดพัก


ท่ายืดหัวไหล่ ท่านี้ช่วยให้หัวไหล่เคลื่อนไหวดีขึ้น และผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอกับหัวไหล่



1. ยืนตัวตรง ประสานมือทั้งสองข้างไว้ด้านหลังคอ และชี้ปลายข้อศอกไปด้านหน้า
     

2. กางข้อศอกไปด้านข้างช้าๆ พร้อมกับหายใจเข้าให้ลึกที่สุด กลั้นหายใจ 5 วินาที หายใจออก พร้อมกับดึงข้อศอกกลับมาชิดกัน

ท่าบริหารหัวเข่า ท่านี้ช่วยเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหน้าขาซึ่งพยุงหัวเข่า


นั่งบนเก้าอี้ที่มีพนักพิงแข็งแรง สอดผ้าเช็ดตัวม้วนเป็นวงใต้หัวเข่า

1. ยกขาข้างหนึ่งขึ้นจนข้อเข่าตรง ค้างไว้ 3-5 นาที

2. ปล่อยขาลงช้าๆ และยกอีกข้างหนึ่งสลับกัน

ท่าบริหารนิ้วมือ สำหรับผู้ที่มีปัญหาข้อนิ้วมืออักเสบ ท่าบริหารนี้ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นของนิ้วมือ ทำให้คุณหยิบจับสิ่งของง่ายขึ้น


1. ชูมือข้างหนึ่งแบนิ้วออกตามสบาย

2. งอพับนิ้วโป้งเข้ากลางฝ่ามือให้มากที่สุดจนกระทั่งสัมผัสโดนนิ้วก้อย และค้างไว้นาน 3 วินาทีก่อนกลับไปท่าเดิม จากนั้นให้กางนิ้วมือทุกนิ้วให้มากที่สุด

1. กำมือหลวมๆ โดยให้นิ้วหัวแม่มืออยู่นอกกำปั้น


2. กำไว้ 3 นาที แล้วแบมือออก กางนิ้วออกจากกัน

ท่าบริหารข้อเท้า ท่านี้ช่วยคงความยืดหยุ่นของข้อเท้าที่ยังบวมอยู่ นั่งสบายๆ บนเก้าอี้พนักตรง วางฝ่าเท้าราบบนพื้น และบริหารดังนี้

1. ยกปลายเท้าทั้งสองข้างขึ้นขณะที่ส้นเท้าอยู่ติดพื้น

2. ขยับหัวแม่เท้าไปมาช้าๆ โดยใช้ส้นเท้าเป็นจุดหมุน


3. ยกส้นเท้าขึ้นทั้งสองข้างขณะที่ปลายเท้าอยู่ติดพื้น

4. ขยับส้นเท้าไปทางซ้ายแล้วไปทางขวาอย่างช้าๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น