วันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ไข้ขึ้น



โรคและอาการ
อาการเป็นไข้ตัวรอนมักเป็นสัญญาณว่าร่างกายกำลังต่อสู้เชื้อโรค เมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวกำลังต่อสู้กับเชื้อโรคที่มองไม่เห็น มันจะปล่อยสารเคมีซึ่งทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้น เพื่อให้ไม่เหมาะแก่การอยู่อาศัยของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย สำหรับผู้ใหญ่หากอุณหภูมิร่างกายสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าเป็นไข้แล้ว ส่วนผู้สูงอายุและเด็ก หากตัวร้อนแต่ไม่ถึง 38.5 องศาเซลเซียส ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ เว้นแต่ไม่สบายตัวเพราะมีเหงื่อออก หนาวสั่นหรือทั้งสองอย่าง สำหรับทารกแรกเกิดและเด็กที่ยังเล็กมาก แม้มีไข้เล็กน้อยก็ต้องรีบรักษาโดยเร็ว

เย็นกายเย็นใจ
o   แช่น้ำอุ่นนิดๆ ซึ่งจะค่อนข้างเย็นสำหรับร่างกายคนเป็นไข้แต่จะช่วยให้อุณหภูมิร่างกายลดลง แต่อย่าใช้วิธีลดไข้ปุบปับด้วยการแช่น้ำเย็น เพราะจะทำให้เลือดพุ่งไปที่อวัยวะภายในเพื่อปกป้องอวัยวะจากความเย็น ส่งผลให้ภายในร่างกายคุณยิ่งร้อนขึ้นแทนที่จะเย็นลง
o   แช่น้ำพร้อมกับถูกตัวด้วยฟองน้ำเย็นๆ โดยเฉพาะจุดที่ร้อนเป็นพิเศษ เช่น รักแร้และขาหนีบ เมื่อน้ำระเหยก็จะทำให้บริเวณเหล่านี้เย็นลง
o   นอกเหนือจากแช่น้ำ คุณยังสามารถลดความร้อนของร่างกายโดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเย็นบิดหมาดๆ วางบนหน้าผากกับประคบต้นคอ

ขับร้อนออกทางเหงื่อ
o   สมุนไพรอย่างบอระเพ็ดแม้จะมีรสขมแต่มีฤทธิ์ลดไข้อย่างอ่อน โดยช่วยเปิดรูขุมขน กระตุ้นให้เหงื่อออก และแก้กระหายน้ำ ใช้เถาพอระเพ็ด 30-40 กรัม ต้มกับน้ำ 3 ส่วน เคี่ยวให้เหลือ 1 ส่วน ดื่มวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้าและเย็น
o   ชาวตะวันตกใช้สมุนไพรที่มีสรรพคุณช่วยขับเหงื่อคือ เอลเดอร์ฟลาวเวอร์ (elderflower) ซึ่งมีประโยชน์ต่อคนเป็นหวัดและไข้หวัดใหญ่คือ ช่วยลดน้ำมูก ทำชาเอลเดอร์ฟลาวเวอร์โดยใช้ดอกเอลเดอร์ฟลาวเวอร์ 2 ช้อนชา ชงในน้ำร้อน 1 ถ้วย ทิ้งไว้ 15 นาทีแล้วล้างกรองกากออก ดื่มได้วันละ 3-5 ครั้ง จนกว่าไข้จะลด
o   ดื่มน้ำขิงร้อนๆ ก็ลดไข้ได้ดีเช่นกัน แช่ขิงขูดครึ่งช้อนชาในน้ำเดือด ทิ้งไว้สักครู่แล้วกรองขิงออกก่อนดื่ม

ร้อนต้านร้อน
o   ใส่พริกขี้หนูในอาหารที่คุณกิน ในพริกขี้หนูมีแคปเซอิซิน (capsaicin) ซึ่งเป็นสารให้รสชาติเผ็ดร้อนจะช่วยขับเหงื่อและทำให้เลือดไหลเวียนดีขึ้น

คลายร้อนด้วยถุงเท้า
o   การลดไข้ถุงเท้าเปียกก็เป็นอีกวิธีที่ใช้กันมานาน ก่อนอื่นให้แช่เท้าในน้ำค่อนข้างร้อนเพื่อให้เท้าอุ่น จากนั้นแช่ถุงเท้าผ้าฝ้ายบางๆ ในน้ำเย็น บิดหมาดๆ แล้วนำมาสวม สวมถุงเท้าหนาทับอีกชั้นก่อนเข้านอน ถุงเท้าที่เปียกจะดึงให้เลือดไหลเวียนมาที่เท้า เป็นการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดแบบฉับพลัน และช่วยลดอุณหภูมิของร่างกาย แต่ไม่ควรใช้วิธีนี้ถ้าห้องนอนของคุณอากาศหนาวเย็น
o   การกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนมาที่เท้าอาจใช้วิธีแช่เท้าในมัสตาร์ดก็ได้ เพราะมัสตาร์ดมีรสชาติเผ็ดร้อนกระตุ้นให้เลือดไหลเวียนดีขึ้นได้ วิธีคือ ใช้ผงมัสตาร์ด 2 ช้อนชา ผสมน้ำค่อนข้างร้อนในกะละมัง แล้วแช่เท้าไว้สักพัก ถ้าหามัสตาร์ดไม่ได้ อาจใช้ผงพริกแทน แต่อาจจะแสบผิวบ้างเล็กน้อย

ห่อตัวด้วยผ้าเปียก
o   ตำรับลดไข้ที่เก่าแก่คือ แช่ผ้าห่มในน้ำเย็นแล้วเอามาห่อตัว แต่แพทย์แผนปัจจุบันไม่แนะนำให้คุณลดอุณหภูมิร่างกายแบบปุบปับ ดังนั้นคุณอาจแช่ผ้าในน้ำอุ่นนิดๆ ไม่ถึงกับเย็น แล้วใช้ผ้านวมหรือผ้าขนหนูผืนใหญ่ห่อตัวอีกชั้น แล้วนอนอยู่อย่างนั้นสัก 15 นาทีจนผ้าห่มเริ่มแห้ง

เติมน้ำให้ร่างกาย
o   เมื่อเป็นไข้ร่างกายจะขาดน้ำได้ง่ายมาก ควรดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว ให้มากพอทำให้ปัสสาวะของคุณมีสีจาง หรืออาจดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ ซึ่งนอกจากให้น้ำแล้วยังชดเชยเกลือแร่ให้ร่างกายได้อีกทางหนึ่งด้วย
o   น้ำส้มคั้นและน้ำผลไม้อื่นๆ ที่มีวิตามินซีสูงก็เป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง เพราะวิตามินซีจะช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานการติดเชื้อได้ดีขึ้น
o   องุ่นแช่เย็นช่วยเติมน้ำให้กับร่างกาย แถมยังทำให้รู้สึกเย็นสบายดีด้วย

เมื่อใดควรพบแพทย์
        ควรพบแพทย์ถ้าคุณตัวร้อนเกิน 39.5 องศาเซลเซียส หรือ 38.5 องศาเซลเซียส แต่เป็น 3 วันแล้วไข้ยังไม่ลด ถ้ามีไข้และปวดคอ ปวดหัวรุนแรง หรือมีผื่นแดงที่ใช้แก้ววางทับแล้วเม็ดผื่นไม่จางไป ต้องรีบพบแพทย์ทันที อาการอื่นที่ต้องพบแพทย์คือ ง่วงมาก หายใจไม่ทัน แสบเมื่อปัสสาวะ มีรอยแดงใกล้แผล หรือไวต่อแสงมาก ถ้าเด็กทารกอายุไม่ถึง 6 เดือน เป็นไข้ต้องรีบพบแพทย์ทันที


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น