วันเสาร์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ความจำมีปัญหา


·      โรคและอาการ
การหลงลืมเรื่องเล็กน้อย เช่น ลืมว่าวางกุญแจไว้ที่ไหนหรือลืมชื่อคน ตัวการสำคัญคืออายุที่เพิ่มขึ้น เมื่ออายุมากขึ้นวิธีเก็บข้อมูลของสมองมีการเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัญหาในการจำ นอกจากนี้ปัญหาทางกาย เช่น ความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ ก็ส่งผลต่อความจำได้เช่นเดียวกัน รวมทั้งยาบางชนิด เช่น ยารักษาความดันเลือดสูง และยารักษาอาการวิตกกังวล โรคอัลไซเมอร์ก็ทำให้มีปัญหาเรื่องความจำเช่นกัน แต่อาการจะร้ายแรงกว่าความจำเสื่อมทั่วไป

ใช้กลิ่นช่วย
o   เชื่อว่าการสูดดมน้ำมันหอมสกัดจากโรสแมรี (rosemary) หรือเบซิล (basil) ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของสมองได้ มีการทดสอบคลื่นสมองแล้วพบว่า การสูดดมน้ำมันหอมกลิ่นใดกลิ่นหนึ่งที่กล่าวมานี้ช่วยให้สมองผลิตคลื่นเบต้ามากขึ้น ซึ่งหมายถึงการรับรู้ที่ชัดเจนกว่าเดิมด้วย เพียงแค่แตะน้ำมันหอมบนเส้นผม ข้อมือ หรือเสื้อผ้าของคุณ หรือเหยาะน้ำมันเล็กน้อยในเครื่องทำไอน้ำเพื่อให้กลิ่นลอยอวลในห้อง

พึ่งพากาแฟ
o   เครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีนจะช่วยเสริมสมาธิระยะสั้นและอาจให้ประโยชน์ระยะยาวด้วย นักวิจัยที่คณะแพทย์ศาสตร์ในกรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกสพบว่าผู้สูงอายุที่ดื่มกาแฟวันละ 3-4 ถ้วย มีแนวโน้มสูญเสียความจำน้อยกว่าผู้ที่ดื่มกาแฟวันละ 1 ถ้วยหรือน้อยกว่า

เพิ่มออกซิเจน
o   กินแปะก๊วยสกัดวันละ 120 มก. แปะก๊วยช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดสู่สมอง เซลล์สมองจึงได้รับออกซิเจนไปใช้ในการทำงานอย่างเต็มที่ ในเยอรมนีซึ่งมีหน่วยงานชื่อคณะกรรมาธิการ Commission E คอยศึกษาและรายงานประสิทธิภาพของสมุนไพรชนิดต่างๆ นั้น พบว่ามีการใช้แปะก๊วยสกัดเพื่อป้องกันการสูญเสียความจำและภาวะหลอดเลือดในสมองแตก/ตีบ ถ้าคุณมีสุขภาพสมบูรณ์ คุณอาจไม่เห็นประโยชน์ของแปะก๊วยชัดเจน แต่ถ้าคุณมีปัญหาเรื่องเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ สมุนไพรนี้อาจช่วยได้
o   อีกวิธีที่จะให้เลือดไปเลี้ยงสมองมากขึ้นคือเคลื่อนไหวอยู่เสมอ มีหลักฐานระบุว่าการออกกำลังกายอาจช่วยเพิ่มจำนวนเซลล์ประสาทในสมองด้วย การออกกำลังกายเป็นประจำโดยเฉพาะการเดินและปั่นจักรยานดีต่อสุขภาพและยังช่วยป้องกันโรคต่างๆ ซึ่งมีส่วนทำให้ความจำเสื่อมลม เช่น เบาหวาน หลอดเลือดในสมองแตก/ตีบ ความดันเลือดสูง

รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
o   การวิจัยใหม่ๆ ได้ค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างการที่ร่างกายไม่ดูดซึมกลูโคสและการสูญเสียความจำเนื่องจากอายุ อาหารที่ถูกย่อยจนกลายเป็นกลูโคส เป็นแหล่งพลังงานของอวัยวะต่างๆ ภายในร่างกายรวมทั้งสมอง แต่คนจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ที่เลยวัยหนุ่มสาวจะมีปัญหากับการลำเลียงกลูโคสจากกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ มีการวิจัยพบว่าการที่ร่างกายไม่ดูดซึมกลูโคส (ซึ่งไม่เกี่ยวกับโรคเบาหวาน) อาจทำให้ความจำระยะสั้นลดลงในวัยกลางคนขึ้นไป ปัญหานี้แก้ไขได้ด้วยการกินอาหารมื้อขนาดพอประมาณ โดยเน้นธัญพืชเส้นใยสูงและผักมากกว่าอาหารประเภทแป้งขัดขาว
o   เน้นไขมันดี เช่น น้ำมันพืช ถั่วเปลือกแข้ง เมล็ดพืช อะโวคาโดและปลา ซึ่งช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดโดยไม่อุดตันหลอดเลือด
o   ออกกำลังกายเป็นประจำเพื่อป้องกันปัญหาน้ำตาลในเลือด

กินอย่างฉลาด
o   สมองคนเราประกอบด้วยน้ำถึง 85% คุณควรดื่มน้ำให้ได้อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว ภาวะขาดน้ำจะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียซึ่งส่งผลต่อความจำได้
o   กินวิตามินบีให้เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย ซึ่งได้แก่ วิตามินบี6 บี12 ไนอะซิน และไทอะมิน วิตามินเหล่านี้ช่วยเสริมสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อสมอง และยังช่วยให้ร่างกายแปลงอาหารมาเป็นพลังความคิดความจำด้วย อาหารที่มีวิตามินบี6 สูง ได้แก่ เนื้อสัตว์ปีก ไข่ นม และกล้วยหอม ส่วนธัญพืชต่างๆ เนื้อสัตว์ ถั่วเปลือกแข็ง เมล็ดพืช จมูกข้าวสาลี และอาหารเช้าธัญพืชเสริมวิตามินก็มีวิตามินบีอยู่ครบถ้วน
o   เมื่อเพิ่มของดีแล้ว ก็อย่าลืมลดของที่มีไขมันอิ่งตัวสูงด้วย เพราะนอกจากจะทำให้หลอดเลือดหัวใจอุดตันแล้ว ยังทำให้หลอดเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงสมองอุดตันและสมองขาดออกซิเจนด้วย สิ่งที่อันตรายพอๆ กับไขมันอิ่มตัวก็คือพวกกรดไขมันแปรสภาพ ซึ่งมีในมาร์การีน และอาหารอบสำเร็จรูป เช่น บิสกิต เค้ก และของกินเล่นอื่นๆ
o   กินปลาสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ปลาที่มีไขมัน เช่น แซลมอน แม็กเคอเรลเฮร์ริง และทูน่าสด มีกรดไขมันโอเมก้า-3 ซึ่งช่วยทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อนลิ่มจนไปอุดหลอดเลือดหัวใจ จึงดีต่อสมองของคุณเช่นกัน

เสริมวิตามิน
o   กินวิตามินรวมทุกวัน โดยต้องมีกรดโฟลิกและวิตามินบี12 ครบถ้วนตามที่ร่างกายผู้ใหญ่ต้องการในแต่ละวัน (ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับแต่ละวัน [DRI] สำหรับวิตามินบี12 คือ วันละ 2.4 ไมโครกรัม กรดโฟลิกวันละ 400 ไมโครกรัม) เพราะอาหารประจำวันไม่สามารถให้วิตามินเหล่านี้เพียงพอ และการขาดสารอาหารเหล่านี้อาจทำให้ความจำเสื่อมได้

ยิมนาสติกสมอง
การบริหารสมองดังวิธีต่อไปนี้ จะช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพความจำของคุณได้

o   เสริมความจำวิธีที่ 1
ถ้าต้องการเพิ่มวงจรใหม่ในสมอง ใช้ “มือผิดข้าง” ทำกิจกรรมประจำวัน วันละหลายๆ ครั้ง เช่น ถ้าปกติคุณแปรงฟันด้วยมือขวาก็เปลี่ยนมาใช้มือซ้าย หรือถ้าคุณรูดซิปด้วยมือซ้ายก็เปลี่ยนมาใช้มือขวา สมองจะรู้ว่าคุณใช้มือผิดข้างเนื่องจากข้อมูลทางประสาทและการเคลื่อนไหวที่ได้รับจากมือข้างนั้น ความสับสนเช่นนี้จะกระตุ้นให้เกิดวงจรใหม่ในสมอง เพราะสมองพยายามที่จะจัดการกับกิจกรรมใหม่ตามข้อมูลที่ได้มา (ใช้วิธีน้ำกับกิจวัตรประจำวันที่ง่ายๆ และไม่มีอันตรายเท่านั้น คุณคงไม่อยากใช้สว่านด้วยมือข้างที่ไม่ถนัดหรอกนะ)

o   เสริมความจำวิธีที่ 2
เมื่อพยายามจำข้อมูลใดข้อมูลหนึ่ง ให้เชื่อมโยงกับสิ่งที่จะช่วยให้คุณจำได้ง่าย อาจเป็นวลี สูตร หรือคำคล้องจอง เช่น ถ้าคุณอยากจำว่าพยัญชนะไทยตัวใดบ้างมี่เป็นอักษรกลาง (มี 9 ตัว คือ ก จ ด ต บ ป อ ฎ ฏ) คุณอาจจำเป็นวลีว่า “ไก่จิกเด็กตายบนปากโอ่ง ฎ ฏ” ก็ได้ เทคนิคเดียวกันนี้สามารถใช้ในกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น การจำรายการสิ่งที่ต้องทำหรือของที่ต้องซื้อ อีกวิธีคือให้คุณเขียนรายการไว้กันลืมเสียเลย

o   เสริมความจำวิธีที่ 3
เทคนิคช่วยจำอีกอย่างหนึ่งซึ่งใช้ได้ดีกับการจำสิ่งที่ต้องทำคือ การผูกเป็นเรื่องสั้นๆ ยิ่งสนุกสนานเหลือเชื่อก็ยิ่งดี สมมติว่าวันนี้คุณต้องไปธนาคาร ห้องสมุด ร้านขายเนื้อ และแวะบ้านเพื่อนที่ชื่อบ๊อบ เพื่อคืนหนังสือ คุณอาจแต่งเรื่องว่า “เจ้าบึ้กบ๊อบคนขายเนื้อใช้ปืนปล้นธนาคารแล้วหนีไปซ่อนตัวในห้องสมุด”

ขจัดปัญหาด้วยเสียง
o   ลองฟังดนตรีบ่อยๆ หลายๆ แนว นักวิจัยพบว่าการฟังดนตรีทำให้สมาธิคุณดีขึ้นและช่วยให้คุณจำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป ดนตรีบางประเภททำให้เซลล์ประสาทในสมองมีปฏิกิริยาเร็วขึ้น จังหวะยิ่งเร็ว สมองยิ่งตอบสนองมาก

ท้าทายสมองประลองความคิด
o   ถ้าคุณอยากกลับสมองจริงๆ ละก็ ลองหัดเล่นเครื่องดนตรีสักชิ้นไม่ว่าจะเป็นกลองหรือเปียโน การหัดเล่นจะช่วยพัฒนาทักษะการเคลื่อนไหว และช่วยปรับความสามารถของสมองในการวิเคราะห์และเพ่งสมาธิให้ดีขึ้น
o   ให้สมองทำงานเรื่อยๆ มีการศึกษาชิ้นหนึ่งระบุว่าผู้ที่มีความสามารถทางการศึกษาและภาษามากที่สุดมีโอกาสเป็นโรคอัลไซเมอร์น้อยที่สุด ทว่าสิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปริมาณการเรียนรู้จากตำรับตำราสมัยที่ยังเป็นนักเรียนนักศึกษา แต่อยู่ที่ว่าคุณออกกำลังสมองมากน้อยแค่ไหน การเล่นปริศนาอักษรไขว้ เรียนรู้ภาษาที่สอง หรือเล่นสแครบเบิล ล้วนช่วยบริหารสมอง

ควบคุมความเครียด
o   หาวิธีลดความเครียด คนที่ตึงเครียดจะมีระดับฮอร์โมนความเครียดในตัวสูง นานๆ ไปฮอร์โมนเหล่านี้อาจส่งผลต่อสมองส่วนที่เรียกว่าฮิปโปแคมปัส (hippocampus) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความจำ คุณไม่ถึงกับต้องทำสมาธิหรอก แค่ทำอะไรที่ง่ายๆ และสนุกเพลิดเพลิน เช่น นอนไกวเปลญวณ หรือเล่นวาดรูปด้วยปลายนิ้วมือกับลูกๆ หลานๆ ก็พอแล้ว
o   ลองกินโสมไซบีเรีย ซึ่งช่วยปกป้องร่างกายจากผลของความเครียด และอาจช่วยทำให้สมองตื่นตัวมากขึ้นด้วย กินโสมสกัดแบบทิงเจอร์ (อัตราส่วน 1:3 ในแอลกอฮอล์ 25%) 10-20 หยดผสมน้ำวันละ 3 ครั้งหลังอาหาร หรือกินแบบแคปซูลขนาด 50 มก. พร้อมน้ำเปล่าวันละไม่เกิน 6 แคปซูล อย่ากินเกินกว่าคราวละ 1 เดือน ทิ้งช่วงให้ร่างกายหยุดพักสัก 2 เดือนก่อนจะเริ่มกินใหม่

อาหารโปรดของช้าง
o   ใบบัวบกซึ่งเป็นพืชที่ช้างโปรดปรานถูกนำมาใช้ในการเพิ่มความเฉียบคมให้สมองนานนับพันปีแล้ว มีการวิจัยบางชิ้นที่สนับสนุนการใช้สมุนไพรนี้ในการเสริมความจำ อาจกินแบบแคปซูลขนาด 300 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 2 ครั้งพร้อมอาหาร

เมื่อใดควรพบแพทย์
ควรพบแพทย์ถ้ารู้สึกว่าความจำคุณแย่ลงไปมากในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา แต่ถ้าจำสิ่งที่เคยทำบ่อยๆ ไม่ได้หรือจำไม่ได้ว่าจะไปยังที่ที่คุ้นเคยได้อย่างไร ควรพบแพทย์โดยด่วน กรณีที่ลืมวิธีทำกิจกรรมใดก็ตามที่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอน เช่น การทำอาหาร ก็ควรพบแพทย์เช่นกัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น