วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

งูสวัด


·โรคและอาการ
เมื่อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซอสเตอร์ (herpes zoster) ที่เคยทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและซ่อนเร้นอยู่ในร่างกายเกิดเคลื่อนลงมาที่ปลายประสาทสู่ผิวหนังจะทำให้เกิดโรคงูสวัด ร้อยละ 20 ของผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสจะเป็นโรคนี้ในภายหลัง โดยมักเป็นเมื่ออายุเลย 50 ปีแล้ว โดยมักเป็นเมื่ออายุเลย 50 ปีแล้ว อาการคือเกิดผื่นแดงและตุ่มใสนูนขึ้นเป็นแนว มักเป็นที่ลำตัวใบหน้า และคอ อาการคัน เสียวแปลบ หรือเจ็บปวดอาจเป็นราว 1 สัปดาห์ แล้วตุ่มใสจะแห้งและตกสะเก็ด เมื่อใดที่ภูมิต้านทานต่ำลงก็อาจเป็นซ้ำได้อีก โดยเฉลี่ยแล้วตุ่มใสและอาการเจ็บปวดจะเป็นราว 2-4 สัปดาห์ แต่บางครั้งอาการปวดตามเส้นประสาทอาจเป็นต่ออีกนานหลายเดือน

กำจัดตุ่มพองและบรรเทาอาการคัน
o   ถ้าที่บ้านคุณปลูกว่านหางจระเข้ไว้ ตัดใบมาแล้วนำส่วนที่เป็นวุ้นมาทาที่ผิวจะบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ หรืออาจใช้เจลอโรเวรา (ถ้าเป็นไปได้ ให้ใช้ชนิดที่มีอโลเวร่า 100%) ที่หาซื้อได้ตามร้านขายยา
o   ใช้ผงฟูผสมน้ำเล็กน้อยมาพอกลงตรงบริเวณที่เป็นตุ่มน้ำใสๆ จะทำให้ตุ่มแห้งและบรรเทาอาการคัน
o   อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้เกลือเอปซอม (Epsom salt) ผสมกับน้ำ นำมาพอกลงตรงที่เป็น ทำซ้ำได้บ่อยเท่าที่ต้องการ
o   ต้มน้ำชาเลมอนบาล์ม มีผลการศึกษาว่า สมุนไพรจากตระกูลมินต์นี้ต่อสู่กับเฮอร์ปีส์ไวรัส (herpes viruses) ที่ทำให้เกิดโรคงูสวัสดิ์ได้ดี วิธีคือ ใส่ใบชาแห้ง 2 ช้อนชาลงในน้ำเดือด 1 ถ้วย ปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น นำสำลีก้อนไปชุบแล้วนำมาทาที่เป็น ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรบางท่านแนะนำให้เพิ่มประสิทธิภาพน้ำชาโดยใส่โรสออยล์หรือมินต์ เช่น เป็ปเปอร์มิ้นท์หรือสเปียร์มินต์ลงไปด้วย
o   ใช้ของที่มีอยู่ในครัว นั่นคือ น้ำส้มสายชูกับน้ำผึ้ง ผสมสองอย่างนี้เข้าด้วยกันให้ได้ตัวยาเหนียวๆ แล้วนำมาป้ายบริเวณที่ปวด

ขจัดความเจ็บปวด
o   นำผ้าขนหนูผืนเล็กๆ หรือผ้าเช็ดตัวจุ่มในน้ำเย็น บิดให้หมาดแล้วนำมาวางเหนือบริเวณที่ปวด อาจจุ่มในน้ำนมเย็นแทนก็ได้ บางคนบอกว่า น้ำนมช่วยบรรเทาความเจ็บปวดได้ดี
o   ถ้ายังปวดอยู่หลังจากที่ตุ่มน้ำใสๆ หายไปแล้ว ใช้ถุงใส่น้ำแข็งมาลูบไปมาบนผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญไม่ทราบเหตุผลเหมือนกันว่า เพราะอะไรความเย็นจึงช่วยให้อาการดีขึ้นได้ แต่ก็เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลจริงๆ
o   บางคนบอกว่า การกินอาหารรสจัดหรือเผ็ดช่วยให้หายปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งสารแคปเซอิซิน (capsaicin) ที่มีอยู่ในพริก เชื่อกันว่าเป็นสารที่ช่วยสกัดกั้นไม่ให้มีการสื่อความรู้สึกเจ็บปวดไปตามเซลล์ประสาท

หยุดการลุกลาม
o   เสริมไลซีน (lysine) 1,000 มก. วันละ 3 ครั้ง ระหว่างที่เชื้อกำลังลุกลามอย่างเฉียบพลัน กรดอะมิโนชนิดนี้ป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสแตกตัวเพิ่ม และอาจช่วยเร่งการรักษาด้วย
o   กินเอคิเนเซีย (Echinacea) 200 มก. และ โกลเดนซีล (goldenseal) 125 มก. ชนิดสารสกัดวันละ 3 ครั้ง เพื่อกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน และช่วยร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ
o   ลองกินแคตส์คลอว์ (cat’s claw) ซึ่งเป็นสมุนไพรที่ชาวอินเดียแดงในอเมริกาใต้ใช้รักษาโรคต่างๆ มานมนาน และปัจจุบันได้รับการยอมรับว่าเป็นความหวังในการรักษาโรคต่างๆ ที่เกิดจากไวรัส รวมทั้งโรคงูสวัด เมื่อจะใช้ควรเลือกชนิดสารสกัดมาตรฐานที่มีส่วนผสมของแอลคาลอยด์ (alkaloid) 3% กับโพลีฟีนอล (polyphenol) 15% และบนฉลากต้องมีคำว่า Uncaria tomentosa หรือ U. guianensis (มีผลิตภัณฑ์จำนวนมากที่ฉลากระบุว่าเป็น แคตส์คลอว์ แต่ว่าไม่ใช่ของจริง) กินครั้งละ 250 มก. วันละ 2 ครั้ง

ป้องกันไว้ก่อน
o   คุณไม่ได้ติดเชื้องูสวัดจากคนอื่น หรือแพร่เชื้อไปให้คนอื่น แต่คนที่เป็นงูสวัดอาจแพร่เชื้อโรคอีสุกอีใสไปสู่คนอื่นได้ถ้าคนที่รับเชื้อไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน ดังนั้นป้องกันไม่ให้คนอื่นเป็นโรคด้วยการล้างมือบ่อยๆ และบอกคนใกล้ชิดว่า คุณกำลังป่วย

ความเจ็บปวดหลังจากแผลหายแล้ว
คนจำนวนมากยังมีความรู้สึกเจ็บปวดหลงเหลืออยู่ตามบริเวณที่เคยเป็นงูสวัสดิ์นานหลายเดือน หรืออาจถึงกับหลายปี อาการนี้เรียกว่า อาการปวดประสาทหลังจากเป็นโรคจากไวรัสเฮอร์ปีส์ (post Herpetic Neuralgia) ถ้าคุณมีอาการนี้ ต้องไปพบแพทย์เพื่อรับยากิน เช่น กาบาเพนติน (gabapentin) หรืออามันตาดีน (amantadine) หรือครีมแคปเซอิซิน (capsaicin) ซึ่งเป็นสารสกัดจากพริก แพทย์อาจฉีดยาชาเฉพาะที่ให้คุณ เพื่อระงับปวด วิธีรักษาอีกวิธีหนึ่งที่ทำได้เอง (แต่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก) คือใช้แผ่นแปะไลโดเดิร์ม (Lidoderm) ซึ่งผลิตโดยบริษัท Endo Pharmaceuticals ของสหรัฐฯ แผ่นแปะนี้มีตัวยาไลโดเคนซึ่งเป็นยาชาเฉพาะที่ และออกแบบมาเพื่อส่งตัวยาไปยังประสาทส่วนที่ได้รับความเจ็บปวดภายใต้ผิวหนัง แทนที่จะส่งไปตามหลอดเลือด ทำให้บรรเทาปวดได้เร็วกว่ามาก

เมื่อใดควรพบแพทย์
คุณควรไปพบแพทย์ภายใน 72 ชั่วโมงนับตั้งแต่มีอาการ การได้รับยาต้านไวรัสทันที ช่วยลดความรุนแรงและระยะเวลาของการเป็นโรคและช่วยไม่ให้มีอาการปวดตามเส้นประสาท (post Herpetic Neuralgia) นอกจากนี้ยังควรพบแพทย์ ทันทีถ้าทนเจ็บปวดจากอาการกำเริบไม่ได้ หรือผื่นหายแล้ว แต่ยังไม่หายปวด ถ้าเป็นงูสวัดที่จมูก หน้าผาก หรือใกล้ดวงตา ต้องพบแพทย์ทันทีเพราะอาจเป็นอันตรายต่อดวงตา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น