วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

เครียด


· โรคและอาการ
ร่ายกายคุณตื่นตัว บอกให้รู้ว่ามีบางอย่างผิดปกติ และคุณต้องแก้ไข ความเครียดทำให้ระบบต่อมไร้ท่อผลิตฮอร์โมนที่ลดภูมิคุ้มกัน ทำร้ายหัวใจและหลอดเลือด ทำให้เป็นหวัดและเจ็บป่วยได้ง่าย จิตใจคุณก็ถูกโจมตีด้วยเช่นกัน โดยจะทำให้รู้สึกหงุดหงิด โกรธง่าย วิตกกังวลมาก ขาดสมาธิ รวมถึงนอนไม่หลับ ปวดท้องเรื้องรัง และทรมานจากอาการปวดศีรษะและภาวะอ่อนเพลีย

สมุนไพรและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารต้านกังวล
o   นับตั้งแต่ชาวกรีกโบราณเริ่มชื่นชอบการดื่มชาคาโมไมล์เป็นต้นมา ชาชนิดนี้ก็ได้รับการยกย่องว่ามีคุณสมบัติช่วยรักษาโรค ปัจจุบันมีการดื่มชาราววันละ 1 ล้านถ้วยทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรและนักธรรมชาติบำบัดจึงแนะนำว่า ชาคาโมไมล์เป็นวิธีเยียวยาความเครียดที่ยอดเยี่ยม โดยให้ดื่มครั้งละ 1 ถ้วย วันละ 3 ครั้ง
o   คุณอาจเติมคาโมไมล์ลงในสมุนไพรอื่นๆ ที่ช่วยให้จิตใจสงบ อย่างเช่น ลาเวนเดอร์ และ วาลิเรียน (valerian) หรืออาจหยดผสมในน้ำอาบ เพื่อแช่ผ่อนคลายประสาท วิธีคือห่อสมุนไพรอบแห้งในผ้าขาวบาง นำไปวางลงใต้ก๊อกน้ำเมื่อคุณเตรียมน้ำอาบ
o   กินวิตามินซีเสริม ในการศึกษาหนึ่งพบว่าเมื่อให้คนที่อยู่ในภาวะกดดันได้รับวิตามินซีเสริมวันละ 1,000 มก. ต่อวัน ปรากฎว่าคนกลุ่มนี้มีความดันเลือดเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง และระดับฮอร์โมนความเครียดกลับคืนสู่ระดับปกติเร็วกว่าคนที่ไม่ได้รับวิตามินซี
o   ลองพิจารณาโสมเกาหลี (panax ginseng) สมุนไพรที่ได้รับการยกย่องว่ามีสรรพคุณปกป้องร่างกายจากความเครียด โดยได้ผลเป็นที่ปรากฎแล้วว่าช่วยปรับสมดุลฮอร์โมนความเครียด และสนับสนุนการทำงานของอวัยวะที่ผลิตฮอร์โมนนี้ ซึ่งได้แก่ ต่อมใต้สมอง (pituitary) ไฮโปธาลามัส (ส่วนล่างของสมองส่วนหน้าที่ยื่นออกมาติดกับต่อมใต้สมอง) ต่อมหมวกไต กินโสมวันละ 100-250 มก. วันละ 2 ครั้งในช่วงที่มีภาวะเครียด ควรเริ่มกินในปริมาณต่ำสุดก่อนแล้วจึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณ ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าควรกินโสม 2-3 สัปดาห์ เว้น 1 สัปดาห์ แล้วจึงกลับมากินใหม่ สลับกันไป

รวบรวมสติ
o   การผ่อนคลายด้วยการทำสมาธิได้รับการพิสูจน์ทางคลินิกแล้วว่าสามารถต้านทานความเครียดได้ วิธีคือ นั่งในอิริยาบถที่สบาย ในที่ที่ไม่มีใครรบกวน หลับตา เอาใจจดจ่ออยู่กับคำหรือวลีใดวลีหนึ่ง ตัวอย่างเช่น “ไม่เป็นไรแล้ว” ในขณะที่คุณกำลังหายใจเข้าและออกอยู่อย่างตั้งใจ ให้พูดวลีนั้นซ้ำทุกครั้งที่หายใจออก ถ้าจิตใจคุณวอกแวกไปคิดเรื่องอื่น ก็เพียงแต่เลิกใส่ใจเรื่องนั้น แล้วหันกลับมาท่องคำหรือวลีเดิมต่อไป ควรฝึกประมาณ 10-20 นาที อย่างน้อยวันละครั้ง
o   ผลการวิจัยพบว่า เสียงดนตรีบางชนิดสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจความดันเลือด และแม้แต่ระดับฮอร์โมนความเครียดในเลือดได้ ดังนั้นจึงควรหยุดพักแล้วฟังดนตรีที่คุณรู้สึกว่าช่วยประโลมใจ
o   ฝึกเดินทางข้ามเวลา เมื่อคุณรู้สึกมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นในปัจจุบันลองหวนนึกถึงเรื่องที่คุณเครียดเมื่อปีที่แล้ว เรื่องนั้นสำคัญมากน้อยแค่ไหนในวันนี้ ทีนี้ลองนึกไปถึง 1 ปีข้างหน้าต่อจากนี้ แล้วมองย้อนมาดูปัญหายุ่งยากใจในปัจจุบัน บางทีการ “ก้าวกระโดดไปข้างหน้า” จะช่วยให้คุณได้มุมมองที่ดีขึ้นต่อสิ่งที่คุณกำลังพยายามผ่านไปให้ได้ในปัจจุบัน

ฝึกการผ่อนคลายแบบต่อเนื่อง
o   เมื่อคุณรู้สึกตึงเครียดมาก ลองใช้เทคนิคที่เรียกว่า การผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง (progressive relaxation) วิธีคือ นั่งหรือนอนในสถานที่เงียบสงบและสบาย หลับตาลง งอนิ้วเท้าให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ค้างไว้ประมาณ 10 วินาทีแล้วผ่อนคลาย จากนั้นเกร็งและผ่อนคลายเท้า ขา ท้อง นิ้วมือ แขน คอ และหน้า หรือพูดอีกอย่างคือ “ทำ” ความเครียดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยตลอดตั้งแต่ปลายเท้าจรดศีรษะ แล้วอุปมาว่า “ปล่อยมันไป”

ป้องกันไว้ก่อน
o   ออกไปเดินเล่นหรือออกกำลังกายอย่างอื่นสัก 20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง การออกกำลังกายช่วยกระตุ้นการหลั่งสารเอนดอร์ฟินในสมอง ทำให้เราอารมณ์ดีขึ้นและคลายความกังวล
o   จำกัดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คาเฟอีน และน้ำตาล ถ้าคุณสูบบุหรี่ ก็เลิกเสีย เพราะสารเหล่านี้ไปกระตุ้นปฏิกิริยาสู้หรือถอยของร่างกาย ก่อให้เกิดอาการเครียดทางร่างกาย ได้แก่ หัวใจเต้นเร็ว ตัวสั่น เหงื่อออกที่มือ วิตกกังวล และหงุดหงิด
o   ทำงานอดิเรกที่ช่วยให้จิตใจสงบ การทำสวน ถักนิตติ้ง ต่อจิ๊กซอว์ อ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมยามว่างอื่นๆ ที่คุณชอบจะช่วยให้คุณหยุดพักจากความเครียดต่างๆ ในชีวิต

เมื่อใดควรพบแพทย์
ควรพบแพทย์ถ้าอาการจากความเครียดส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของคุณ อาการดังกล่าว ได้แก่ กังวลมาก ไม่สามารถรับความพ่ายแพ้หรือผิดหวัง เฉื่อยชา ปวดศีรษะเรื้อรังหรือรุนแรง ปวดหลังหรือคอ กินอาหารมากเกินไป และอาการทางร่างกาย เช่น ผื่นเอ็กซีมา ลำไส้แปรปรวน หรือไมเกรนความเครียดเป็นเวลานาน เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดความดันเลือดสูง โรคหัวใจหลอดเลือดในสมองแตก/ตีบ และโรคอื่นๆ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น