วันอาทิตย์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ขากระตุก

โรคและอาการ
ชื่อโรคขากระตุก (Restless Legs Sydrome) หรือ RLS นี้อธิบายอาการของโรคได้ค่อนข้างดี แต่ฟังแล้วไม่บ่งบอกว่าโรคนี้เป็นแล้วทุกข์ทรมานมากเพียงใด เมื่อคุณล้มตัวลงนอนหรือพักผ่อน คุณจะเริ่มรู้สึกเหมือนมีอะไร “ไต่ยั้วเยี้ย” อยู่ในขา วิธีที่จะหยุดอาการได้คือ การขยับขาหรือเดิน คนสูงอายุ สตรีมีครรภ์ และผู้ป่วยเบาหวาน หรือผู้ที่หลังส่วนล่างมีปัญหามักเสี่ยงต่อโรคนี้ สาเหตุของโรคยังไม่ทราบแน่ชัด แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงทุกกลุ่มมีภาวะแมกนีเซียมต่ำ อาการของโรคยังโยงไปถึงการบริโภคน้ำตาล คาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมทั้งยาบางชนิด

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร
o   ในแต่ละวันให้คุณกินแคลเซียม 800 มก. และแมกนีเซียม 400 มก. (ผู้รักษาโรคโดยไม่ใช้ยาแนะนำให้เริ่มกินในปริมาณต่ำๆ ดังนั้นเริ่มแรกให้กินแคลเซียม 500 มก. และแมกนีเซียม 250 มก. ก่อน แต่ต้องจำไว้ว่า แร่ธาตุ 2 ชนิดนี้ต้องกินในอัตราส่วน 2:1 เสมอ) และกินโพแทสเซียมอีก 800 มก. หากขาดแร่ธาตุเหล่านี้ชนิดใดชนิดหนึ่งจะทำให้ขากระตุกยิ่งขึ้น
o   ดื่มน้ำแร่ที่มีแมกนีเซียมมาก ปริมาณแมกนีเซียมในน้ำแร่ที่เหมาะสมที่สุดคือ 100 มก. ต่อน้ำ 1 ลิตร
o   กินวิตามินบี กรดโฟลิก (หรือเรียกอีกอย่างว่า โฟเลต) ให้มากขึ้น กรดโฟลิกช่วยเสริมสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนมากขึ้นซึ่งมีประโยชน์มาก เพราะโรคขากระตุกนี้ทำให้ออกซิเจนในเลือดน้อยลง อาหารที่มีกรดโฟลิกมาก ได้แก่ ผักใบเขียว น้ำส้มคั้น ธัญพืชไม่ขัดสี และถั่วชนิดต่างๆ นอกจากนี้ยังมีอยู่ในวิตามินรวมทั่วไป
o   กินอาหารที่มีธาตุเหล็กมาก เช่น ผักใบเขียว ตับ จมูกข้าวสาลี ถั่วแดง และเนื้อไม่ติดมัน เหล็กเป็นส่วนประกอบหนึ่งของโมเลกุลไมโอโกลบิน (myoglobin) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เก็บกักออกซิเจนไว้ในกล้ามเนื้อ และนำมาใช้ในยามที่ต้องการ ถ้าไม่มีธาตุเหล็ก ไมโอโกลบินก็ไม่มีออกซิเจนเพียงพอ จะเกิดปัญหาต่อกล้ามเนื้อได้

ยืดขาที่บ้าน
o   เมื่อคุณรู้สึกว่าขาจะกระตุก ให้นวดขาให้ทั่ว หรือเหยียดขาออกไปให้สุด จนปลายหัวแม่เท้าเหยียดตรง วิธีนี้เป็นการส่งสัญญาณไปยังสมองให้สามารถเอาชนะความรู้สึกซ่าๆ แบบแปลกๆ ของโรคขากระตุกได้ แต่ต้องหยุดทำถ้าเป็นตะคริว เพราะตะคริวเป็นอาการบ่งชี้ว่ามีการขาดแมกนีเซียม ซึ่งการเหยียดขาไม่ช่วยให้ดีขึ้น
o   นั่งริมขอบเตียง นวดขยำน่องแรงๆ เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อระดับลึกลงไป
o   ถ้าทำแล้วยังไม่หยุดกระตุก ให้ลุกขึ้นเดินเล่นรอบบ้านหรือรอบๆ ห้องนอน ก้าวขายาวๆ และดัดขา เพื่อยึดกล้ามเนื้อ

ก่อนเข้านอน
o   นั่งแช่ในอ่างน้ำร้อนประมาณ 10-15 นาทีก่อนเข้านอน
o   หรือใช้ความร้อนและความเย็นร่วมกันโดยจุ่มขาลงในน้ำร้อนสัก 2 นาที จากนั้นนำแผ่นประคบเย็นมาประคบที่ขานาน 1 นาที ทำสลับกันเช่นนี้หลายๆ รอบก่อนเข้านอน

ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
o   หลังจากเข้านอนแล้ว ทำกายบริหารด้วยท่าที่เรียกว่า การผ่อนคลายกล้ามเนื้อน่องอย่างต่อเนื่อง หายใจเข้า-ออกลึกๆ สัก 2-3 นาที จากนั้นเกร็งกล้ามเนื้อที่เท้า เกร็งไว้เช่นนั้นสัก 2-3 วินาทีแล้วจึงผ่อนคลาย ต่อไปเกร็งกล้ามเนื้อน้อง ทำเช่นเดียวกันนี้ที่ต้นขา เกร็งและผ่อนคลายส่วนต่างๆ ของร่างกายขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงกล้ามเนื้อคอและใบหน้า เมื่อทำครบหมดแล้ว คุณจะรู้สึกผ่อนคลายทั้งตัว

โฮมิโอพาธี
o   แพทย์ที่รักษาด้วยวิธีโฮมิโอพาธีแนะนำให้ใช้สารละลายคอสติคุม (Causticum) 12c เพื่อบรรเทาอาการขากระตุกในช่วงกลางคืน
o   อีกวิธีหนึ่งคือ ใช้สารละลายทาเรนทูลา ฮิสปานิคา (Tarentula hispanica) 12c วันละ 3 ครั้ง จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ป้องกันไว้ก่อน
o   ตอนเย็น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน ซึ่งจะกระตุ้นกล้ามเนื้อและประสาทขาของคุณ
o   ผลการศึกษาพบว่า คนสูบบุหรี่มีแนวโน้มเป็นโรคขากระตุกมากกว่าคนที่ไม่สูบ ดังนั้น เลิกสูบบุหรี่เสีย
o   หลีกเลี่ยงยารักษาโรคหวัดและไซนัส ซึ่งจะทำให้อาการของโรคขากระตุกยิ่งแย่ลง

เมื่อใดควรพบแพทย์
ถ้าอาการขากระตุกรุนแรงมากจนถึงกับทำให้นอนไม่ได้ หรือรบกวนการทำงานหรือชีวิตประจำวันของคุณ และรักษาด้วยตัวเองแล้วไม่ดีขึ้น ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ แพทย์อาจสั่งยาบางชนิดที่ทำให้ขาสงบลงได้ ถ้าเพิ่งมีอาการขากระตุกเป็นครั้งแรก ควรพบแพทย์ เพราะอาจเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น เบาหวาน โรคไต หรือโรคพาร์คินสัน



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น