วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2555

โคลิก


· โรคและอาการ
ลูกน้อยของคุณเอาแต่ร้องไห้ ไม่ว่าจะใช้วิธีใดก็ไม่ยอมหยุดร้อง เด็กอาจกำมือแน่นและงอเข่าชิดท้องซึ่งตึงราวหนังหน้ากลอง เด็กอาจผายลมหรือถ่ายท้องก่อนหรือหลังร้องไห้ ทารกที่เอาแต่ร้องไห้มากกว่าวันละ 3 ชั่วโมง 3 วันต่อสัปดาห์ อย่างน้อย 3 สัปดาห์ โดยไม่มีปัญหาสุขภาพใดๆ เรียกว่าอาการโคลิก ซึ่งดูจะหนักหนาที่สุดเมื่อทารกอายุ 4-6 สัปดาห์ และค่อยๆ ซาลงไปเองเมื่ออายุ 3-4 เดือน

คว่ำไว้ดีที่สุด
o   อุ้มเด็กให้อยู่ในท่าคว่ำ ดูเหมือนเด็กที่มีอาการโคลิกจะรู้สึกสบายตัวขึ้นเมื่อได้นอนคว่ำ ถ้าคุณกำลังนั่งเก้าอี้โยก ให้อุ้มเด็กคว่ำไว้บนปลายแขนขวางลำตัว จากนั้นโยกเก้าอี้เบาๆ ใช้มือประคองศีรษะเด็กไว้ด้วย
o   ถ้าต้องการเดินไปมา ให้อุ้มเด็กในลักษณะเดียวกันนี้บนปลายแขนคุณ โดยใช้มือรองรับศีรษะเด็กไว้ แต่อุ้มให้ชิดอกมากขึ้นและใช้มืออีกข้างช่วยประคอง
o   เอาเด็กใส่เป้สะพายแนบอก ซึ่งทำให้เด็กได้รับความอบอุ่นจากไออกและได้ยินเสียงหัวใจคุณเต้นด้วย วิธีนี้ทำให้คุณสามารถพาลูกออกไปเดินเล่นข้างนอกได้ ถ้าต้องอุ้มเด็กที่กำลังร้องโยเยเสียงดังออกไป คุณอาจต้องพึ่งพาที่อุดหูด้วย
o   ลูกของคุณอาจสงบได้เมื่อนอนเปลโดยมีผ้าพันกระชับรอบตัวและนอนในท่าตะแคง แต่คุณต้องเฝ้าดูอยู่ใกล้ๆ ด้วย ถ้าลูกกลิ้งตัวจนคว่ำหน้าในเปล คุณต้องพลิกให้หงาย ถ้าปล่อยให้นอนคว่ำหน้าลง เด็กอาจขาดอากาศจนเสียชีวิตได้

ห่อหุ้มให้กระชับ
o   การห่อหุ้มตัวเด็กทารกเป็นการเลียนแบบภาวะในครรภ์ แนวคิดหลักคือทำให้เด็กรู้สึกปลอดภัยมากกว่าจะเป็นการให้ความอบอุ่น การห่อหุ้มตัวนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเปลของเด็กทารก (โรคไหลตายในเด็ก) วิธีคือ คลี่ผ้าฝ้ายปูนอนออก แล้วพับมุมด้านหนึ่งลงมา วางลูกลงนอนหงายบนผ้าโดยให้มุมผ้าที่พับไว้อยู่ใต้คอ ดึงมุมผ้าด้านซ้ายมาปิดแขนและลำตัว แล้วสอดให้กระชับใต้ลำตัวเด็ก จากนั้นดึงมุมผ้าด้านล่างขึ้นมาปิดเท้า แล้วดึงมุมขวามาพันทับอีกทีหนึ่ง เพราะอาจทำให้ร้อนเกินไป และอย่าพันผ้าแน่นเกินไปเพราะอาจทำให้เลือดไม่ไหลเวียน


แกว่งไกวให้หยุดร้อง
o   จับลูกนั่งบนชิงช้าสำหรับเด็ก การแกว่งไกวไปมาอย่างต่อเนื่องเป็นจังหวะ ช่วยทำให้เด็กที่กำลังร้องไห้โยเยสงบลงได้

ใช้ “อุปกรณ์” กล่อม
o   เปิดเครื่องดูดฝุ่น เสียงฮัมที่สม่ำเสมอช่วยกล่อมเด็กบางคนได้ ผลพลอยได้คือพรมที่สะอาดขึ้น ถ้าเครื่องดูดฝุ่นใช้ไม่ได้ผล อาจลองใช้เครื่องเป่าผมดูก็ได้
o   เปิดวิทยุหาสถานีที่มีแต่เสียงซ่าๆ เปิดทิ้งไว้โดยหรี่เสียงให้เบา เสียง “ซ่า” ที่ดังสม่ำเสมอช่วยให้เด็กบางคนเงียบลง หรือคุณอาจหาซีดีที่มีเสียงสำหรับกล่อมเด็กโดยเฉพาะ เช่น เสียงหัวใจเต้น เสียงน้ำตก เสียงฮัมของเครื่องตัดหญ้า หรือเสียงพัดลม
o   เด็กบางคนอาจมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเสียงและแรงสั่นสะเทือนของเครื่องซักผ้า ถ้าคุณกำลังซักผ้าอยู่ ลองจับลูกคุณนั่งในเก้าอี้ที่ตั้งชิดกับเครื่องอบผ้าดู

นิ้วคุณก็ช่วยได้
o   แม้จะยังไม่ถึงเวลาป้อนนม แต่ลูกของคุณจะรู้สึกอุ่นใจหากมีอะไรให้ดูดลองเอานิ้วก้อยของคุณให้ลูกดูดก็ได้ แต่ต้องมั่นใจว่านิ้วสะอาด เล็บตัดสั้นและปราศจากยาทาเล็บ

ตัดอาหารนมออกไป
o   ผู้เชี่ยวชาญบางคนเสนอว่าการร้องไห้นั้นอาจเกิดจากการส่งผ่านนมวัวจากแม่สู่ลูก ถ้าคุณเลี้ยงลูกด้วยนมคุณเองและคุณดื่มนมสดหรือกินอาหารที่ทำจากนม เช่น เนยแข็ง ลองงดกินอาหารเหล่านี้สัก 1 สัปดาห์ ถ้าลองวิธีนี้แล้วไม่ได้ผล ก็สามารถกลับไปกินอาหารอย่างเดิมได้
o   อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มน้ำอัดลม และช็อคโกแลต ก็อาจผ่านน้ำนมของคุณไปสู่ลูกได้ ดังนั้นควรลองงดอาหารเหล่านี้ด้วยสัก 2-3 วัน
o   สังเกตุดูอาหารอื่นๆ ที่คุณกินและอาจส่งผ่านทางน้ำนมของคุณไปสู่ลูก โดยทั่วไปมักเป็นอาหารจำพวกพืชตระกูลถั่ว ไข่ หัวหอม กระเทียม องุ่น มะเขือเทศ กล้วยหอม ส้ม สตอว์เบอร์รี่ และอาหารรสเผ็ดร้อน ถ้างดอาหารเหล่านี้ 1 สัปดาห์แล้วไม่ดีขึ้น คุณก็กลับไปกินได้ตามเดิม

ลดตัวกระตุ้นภายนอก
o   บางครั้งคุณยิ่งปลอบลูกกลับยิ่งร้องหนักขึ้น นั่นอาจเป็นเพราะระบบประสาทของเด็กทารกยังพัฒนาไม่เต็มที่จึงยังรับมือกับเสียงต่างๆ ไม่ดีนัก แม้แต่การเคลื่อนไหวอย่างอ่อนโยน เช่น การโยกหรือไกว ก็อาจมีผลต่อลูก เสียงร้องเพลงเบาๆ ของคุณจึงอาจมากเกินกว่าหูเล็กๆ นั้นจะทนรับได้ ดังนั้น ลองปล่อยให้ลูกน้อยนอนร้องไป 10-15 นาทีหรืออุ้มไว้เฉยๆ สักพัก หลีกเลี่ยงการมองตาด้วย เพราะจัดเป็นสิ่งเร้าอย่างหนึ่งเหมือนกัน

จับให้นั่งและทำให้เรอ
o   อุ้มตัวลูกตั้งขึ้นมาขณะป้อนนม อย่านอนขวาง พยายามทำให้เรอบ่อยๆ ให้เรอทุกครั้งที่ป้อนนมจากขวดหมด 1 ออนซ์ และลองเปลี่ยนจุกนมที่แตกต่างกัน จุกนมบางชนิดถูกออกแบบมาให้ลดปริมาณอากาศที่ทารกกลืนเข้าไป
o   อย่าปล่อยให้ทารกดูดขวดนมเปล่าหรือดูดจุกนมที่มีรูใหญ่เกินไป เพราะจะทำให้กลืนอากาศเข้าไปและมีลมในท้อง แม้ลมในท้องจะไม่ใช่สาเหตุของโคลิก แต่บางครั้งก็ทำให้เด็กร้องไห้ได้พอๆ กัน

เมื่อใดควรพบแพทย์
แพทย์ช่วยตรวจดูได้ว่าการที่ลูกน้อยของคุณเอาแต่ร้องนั้น เกิดจากการติดเชื้อหรือเจ็บไข้ได้ป่วยหรือเปล่า เช่น ถ้าทารกอายุ 1 สัปดาห์ร้องไม่หยุด อาจเป็นโรคร้ายแรงกว่าอาการโคลิก แต่ถ้าแพทย์สรุปว่าลูกคุณแค่เป็นโคลิก อย่างน้อยก็อุ่นใจได้ว่าอาการนี้จะหายไปเอง เมื่อเด็กอายุได้ 3-4 เดือน แต่ถ้าเด็กร้องไห้นานเกิน 4 ชั่วโมงในแต่ละครั้ง ต้องรีบพบแพทย์ทันที รวมทั้งกรณีที่เด็กมีอาการไม่สบายหรือเจ็บปวดก่อนหรือหลังร้องไห้ โดยเฉพาะถ้ามีอาเจียนพุ่งออกมา ท้องผูกหรือท้องเสีย มีไข้ หรือไม่ยอมกินนม ตัวคุณเองก็ควรพบแพทย์เช่นกันหากรับมือกับการร้องไห้ของลูกไม่ไหว และควรขอความช่วยเหลือหากรู้สึกกังวล เป็นทุกข์ หรือกลัวว่าจะทำร้ายลูก

ข้อควรระวัง
ยารักษาโคลิกตามตำรับพื้นบ้านนั้นมีอยู่มากมาย เช่น ใช้น้ำที่คั้นสดๆ จากหัวหอม รวมทั้งยาขนานต่างๆ ที่โฆษณาว่าแก้อาการโคลิกได้ ยาบางสูตรอาจช่วยไล่ลมในท้อง แต่หากลูกมีอาการโคลิก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ลม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิธีรักษาแบบดั้งเดิมหรือด้วยยาขนานใหม่ก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น